การออกแบบชุมชนเมืองของลูกหว้า

Singhanat Sangsehanat
2 min readJan 31, 2020

--

เยาวชน พื้นที่สร้างสรรค์ การอนุรักษ์เมือง

“หว้า” คือต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี โดยเหตุนี้ “ลูกหว้า” จึงเป็นคำที่ถูกเลือกใช้จากกลุ่มเยาวชนลูกหลานเมืองเพชร ผู้สืบทอดมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม และพื้นที่ แต่ภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปบวกกับพลวัตของคนรุ่นใหม่ ลูกหว้าขับเคลื่อนเมืองเพชรบุรีไปในทิศทางใด?

นับ 1 ถึง 10 แต่กลายเป็น 0

อยุธยาที่ยังมีชีวิต เป็นคำเปรียบเปรยให้แก่เมืองเพชรบุรี เมื่อพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งสืบทอดประวัติศาสตร์ ศิลปะ และงานสกุลช่าง งานศิลปกรรมหลากหลายแขนงถูกสืบสานต่อเนื่อง มีนักปราชณ์ ผู้รู้ และครูช่างมากมาย องค์ความรู้เหล่านั้นสั่งสมไว้อยู่ในคนรุ่นครู แต่กลับกลายเป็นเรื่องเข้าถึงได้ยากเมื่อคนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตแตกต่างไปจากเดิม

กระบวนการเรียนรู้แบบเก่าไม่ใช่ทางออก ครูผู้สอนมีจำนวนมากและเยาวชนผู้ใฝ่รู้ก็มีจำนวนมาก แต่กระบวนการส่งต่อความรู้แบบเส้นตรงจากครูมาสู่ผู้เรียนนั้นกินเวลายาวนาน สุดท้ายกิจกรรมที่หลงเหลือคือการแสดงศิลปะเชิงช่างจากครูในงานพิธี เยาวชนผู้ใฝ่รู้มีโอกาสไม่มากนักที่จะเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

นับย้อนจาก 10 ไป 1 ผลที่ได้เป็น 100

กลุ่มลูกหว้ามีกระบวนการคิดที่ไม่ใช่นับจาก 1 ถึง 10 แต่เยาวชนที่นี่เริ่มจาก 10 แล้วนับย้อนกลับไป ครูช่างบอกต้องเริ่มจากผสมปูน แต่พวกเขาขอข้ามไปทำงานปูนปั้นให้เป็นก่อนเพื่อจะได้ตระหนักว่าปูนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร กลุ่มลูกหว้าไม่ใช่แค่ผู้เรียนแต่ขอเป็นผู้สอน ส่งต่อศิลปะท้องถิ่นไปยังผู้อื่น และสืบสานให้คงอยู่ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ในแบบตนเองและเท่าทันพลวัตของสังคมยุคใหม่

เมื่อสอนเป็นก็ขยายผลเป็น ลูกหว้าใช้ขั้นตอนท้ายๆของการทำงานช่างเป็นเครื่องมือ (Tool) แสดงให้คนอื่นได้เห็นอย่างรวดเร็วถึงคุณค่าของงานสกุลช่าง ชักชวนและเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เข้าร่วมในการทำงานช่าง ลดทอนขั้นตอนที่ต้องใช้เวลานานลง ให้คนอื่นได้ทำในขั้นตอนท้ายๆและเห็นผลทันที

เมื่อยุคนี้คือการสื่อสาร หนึ่งใน “สื่อ” ที่ใช้สืบสานงานช่างและขับเคลื่อนเมือง คือ “พวงมโหตร” (เครื่องแขวนโบราณลักษณะคล้ายดอกไม้) พวกเขาเรียกมันว่า มหัศจรรย์พวงมโหตร ความมหัศจรรย์คือการเป็นเครื่องมือสื่อสารเชิงช่าง เพียงตอกกระดาษตามลายที่เตรียมไว้และสะบัดกระดาษลง พวงมโหตรก็เกิดขึ้นเป็นเครื่องแขวนอันงดงาม ตราตรึงผู้คนที่ได้พบเห็น

อยุธยาที่ยังมีชีวิต แต่ชีวิตนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยน

ลูกหว้าทำหน้าที่ประสานผู้คน สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง จนเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ร้อยเรียงเป็นโครงข่ายอยู่ในเมือง

นับตั้งแต่ปี 2548 กลุ่มดินสอสี กระตุ้นผู้คนในเมืองเพชรให้ริเริ่มโครงการบ้านในฝันสัญจร ห้องเรียนของเด็กของชุมชน และคำว่า “เพชรบุรีดีจัง” ถูกใช้เป็นชื่อในการขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มลูกหว้า ต่อมาในปี 2550 กลุ่มลูกหว้าได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีให้ใช้พื้นที่เขาวังเคเบิ้ลคาร์เป็นพื้นที่รวมกลุ่มทั้งเพื่อเรียนจากครูและเพื่อสอนงานช่างให้แก่ผู้อื่น นับตั้งแต่ปี 2553 มาถึงปัจจุบัน เป้าหมายของกลุ่มลูกหว้าขยับไปสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้แก่ทุกคน

พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative space) กลายเป็นความท้าทายใหม่ของกลุ่มลูกหว้า เปิดพื้นที่เรียนรู้ใหม่ให้แก่เยาวชน แต่เยาวชนไม่ใช่แค่ “ผู้รอ” แต่ต้องเป็น “ผู้ค้นหา” หาเรื่องที่จะเรียนและหาบุคคลที่จะถ่ายทอดความรู้ สร้างแผนที่เรียนรู้ของตน และสร้างกิจกรรมที่มีชีวิตให้เกิดขึ้นบนพื้นที่จริง การรวมตัวของกลุ่มเยาวชนขยายผลไปไกลในอำเภอต่างๆของจังหวัด นับตั้งแต่ปี 2555 มหกรรมเพชรบุรีดีจัง-ถนนยิ้มได้ เป็นการเผยแพร่ผลประจำปี ณ วัดใหญ่สุวรรณาราม ถนนทุกสายในย่านเมืองเก่าเข้าร่วมกิจกรรมในปีต่อมา ในขณะที่การสืบสานงานสกุลช่างกลายเป็นลมหายใจในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่

จากพวงมโหตร สู่การออกแบบเมือง

พวงมโหตรเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ผู้คนและกลุ่มคนมากมายเข้าร่วมสนับสนุน และเมืองเริ่มปรับเปลี่ยน

มหกรรมเพชรบุรีดีจัง-ทั้งเมือง ในปี 2556 นับเป็นจุดเริ่มต้นแสดงปรากฏการณ์ปรับแปลงเมืองของกลุ่มลูกหว้า เมื่อผู้คนหลายกลุ่มเหล่าร่วมสรรค์สร้างพื้นที่เรียนรู้หลายแห่งในเมือง ตามท้องถนน อาคารสถานที่ ไปจนถึงการสร้างสะพานไม้ไผ่กลางเมืองเพื่อใช้เดินเท้าข้ามแม่น้ำเพชรบุรี สร้างปฏิสัมพันธ์ให้แก่สองฝากแม่น้ำที่ยังมีชีวิต กระตุ้นลมหายใจที่ยังเหลืออยู่

หากเดินเหินอยู่ในเมืองเพชรบุรีจะพบเห็นพวงมโหตรห้อยแขวนอยู่ตามถนนหนทาง ทิ้งร่องรอยสายใยทางความคิด การกระทำ และเหตุการณ์มากมายของเยาวชนตลอดจนคนเพชรทุกกลุ่มที่ร่วมรักษาและสรรค์สร้างเมืองของพวกเขา พวงมโหตรถูกนำไปห้อยแขวนนำทางการเรียนรู้ เชื่อมโยงถนนคลองกระแซงฝากตะวันตกและถนนในตลาดเก่าริมน้ำฝากตะวันออกของเมือง เดินยิ้มริมน้ำเป็นกิจกรรมที่ร้อยเรียงเรื่องราวรายทาง คนเก่าและเรือนเก่าหลายหลังเข้าร่วมเปิดรับการเรียนรู้จากเยาวชน พวงมโหตรจากแรกเริ่มเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารเชิงช่าง ได้กลายเป็นเครื่องมือประสานคนกับพื้นที่ เปิดเส้นทางและรังสรรค์ ตลอดจนเป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์ของการหวงแหนและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง

ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วม แต่เป็นแก่นแกนของกระบวนการ

ลูกหว้ากับพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ก้าวต่อไปคือการขยายพื้นที่สร้างสรรค์และเส้นทางเรียนรู้ออกไปให้ไกลมากขึ้น ชักชวนผู้คนในเมืองให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่มากขึ้น เล็งเห็นและรักษาคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของตนยิ่งขึ้น ความท้าทายครั้งใหม่ของลูกหว้าไม่ใช่เพียงแค่การขยายพื้นที่สร้างสรรค์ให้ขยายออกไป แต่ลูกหว้าเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองในทุกมิติ พลังของเยาวชนนี้จะสร้างลมหายใจใหม่ให้กับเมืองเก่า ประสานผู้คนและกระบวนการพัฒนาเมือง บนความเป็นรากหญ้ารากฐานของคนรุ่นใหม่แห่งเมืองเพชร

ที่มาข้อมูล: การสำรวจเมืองเพชรบุรี ปี 2561–2562; การสัมภาษณ์ ครูจำลอง บัวสุวรรณ 14 กันยายน 2562

--

--

Singhanat Sangsehanat

สิงหนาท แสงสีหนาท — Urban Design Theorist, Silpakorn University