Sense of Place สัมผัส ความรู้สึก และสำนึกต่อถิ่นที่
จิตวิทยาของพื้นที่ พื้นที่เมืองแห่งประสบการณ์
Sense of Place เป็นคำที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในแวดวงการศึกษาและออกแบบสภาพแวดล้อม เมือง และสถาปัตยกรรม เป็นคำที่มีเสน่ห์แต่ยากจะเข้าใจ เนื่องด้วยเป็นแนวคิดเชิงพื้นที่ ซึ่งหยั่งลึกลงไปในความรู้สึกของมนุษย์ และที่สำคัญคือมันมีอิทธิพลต่อเราทุกคน
นิยาม
มีผู้ที่แปลคำว่า Place ด้วยคำว่า “พื้นที่” “สถานที่” และ “ถิ่นที่” แต่ดูเหมือนว่าไม่มีคำใดจะใช้แทนคำว่า Place ได้ตรงนัก
1. “พื้นที่” (Space) คือ มิติทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งหลายครั้งในบทสนทนาต่างๆ มักลดทอนมิติทางสังคมและจิตวิทยาออกไปจากการรับรู้ Place
2. “สถานที่” ก็เป็นคำที่เราส่วนใหญ่ใช้กับอาคาร ทั้งที่ความเป็นพื้นที่สาธารณะและชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น Place
3. “ถิ่นที่” เป็นคำที่มีนัยยะของความเป็นเฉพาะถิ่น (Locality) ของพื้นที่ ไม่จำกัดอยู่ภายในอาคารสถานที่ ครอบคลุมขอบเขตต่างๆของสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อาจจะเป็นคำที่ใกล้เคียงมากที่สุด
ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็ไม่ถนัดปากมากนักที่จะใช้คำว่า พื้นที่ สถานที่ หรือ ถิ่นที่ ในที่นี้จึงขอเรียก Place ว่า Place กันต่อไป
ความสำคัญของ Sense of Place
ความเป็น Place มีนัยยะของการเป็นพื้นที่ที่ดี มีคุณภาพ ผู้คนรักและพึงพอใจในพื้นที่นั้น
Place เป็นลักษณะของพื้นที่ที่พึงปราถนาจากคนในเมือง เราต้องการสิ่งของที่ตรงตามความต้องการ ยินดีที่ได้มา และหวงแหนรักษา พื้นที่เมืองก็เช่นกัน เราก็ต้องการพื้นที่ที่เราชอบที่จะเข้าไปใช้ ตอบสนองรสนิยม ชอบที่จะเข้าไปใช้บ่อยๆ คุ้นเคย ผูกพัน และอยากถนอมรักษาไว้
Good Place จึงเป็นสิ่งที่เมืองต้องมี ในทุกที่ที่เราเดินทางผ่านและไปถึง หากถามตัวเองว่ามีพื้นที่แบบนั้นบ้างไหม ก็จะพบว่ามีอยู่น้อยมากในเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในอาคารสถานที่ และหลายที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้อง เช่น Community mall, Co-working space ไปจนถึงร้านอาหารและอื่นๆ พื้นที่เหล่านั้นไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่ใครก็เข้าถึงและใช้งานได้ และดูเหมือนว่า เมืองได้ผลักภาระนี้ให้แก่เราที่ต้องเลือกมีชีวิตอยู่บน Place ที่ชอบในบางแห่ง แต่ไม่ใช่ของเราจริงๆ ไม่ใช่สาธารณะ ไม่ใช่สิ่งบริการขั้นพื้นฐานที่ควรมีให้
องค์ประกอบของ Place
Place คือ ลักษณะเฉพาะของบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากถิ่นอื่น และ Sense of Place คือ ลักษณะที่ลึกสุดแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อพื้นที่ ซึ่งอัตลักษณ์ของมนุษย์ถูกแฝงฝังอยู่ในสภาพแวดล้อม และสื่อสารแสดงออกมาจากสิ่งนั้น (คำนิยามโดย Christian Norberg-Schulz จากหนังสือเรื่อง Genius Loci: Towards a Phenomenology of Architecture, 1980)
Place คือ สภาพแวดล้อมที่เป็นผลผลิตจากการดำรงชีวิตของมนุษย์
ความรู้สึกต่อ Place สะท้อนอยู่บนการใช้งาน อารมณ์ และความรู้สึกพึงพอใจที่มีต่อพื้นที่
ความเป็น Place จึงเป็นส่วนผสมระหว่าง “ลักษณะของพื้นที่” กับ “ประสบการณ์ของผู้คน” สองอย่างนี้ต้องตรงกัน ลงรอยกัน เมื่อใดที่พื้นที่มีกิจกรรมตอบสนอง Lifestyle ของเรา มีบรรยากาศที่ตรงกับรสนิยมของเรา มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ปลอดภัย ไปจนถึงตอบสนองอัตลักษณ์ของตัวตนหรือกลุ่มสังคมของเรา นั่นแหล่ะที่เรียกว่า Place ที่ดี
Place จึงประกอบด้วย
1. ความคิดเกี่ยวกับ “ข้างใน” (Inside) และ “ข้างนอก” (Outside) เราต้องมีความรู้สึกว่าพื้นที่นั้นเป็น “ที่ของฉัน” “ฉันเป็นคนในนี้” “ฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่”
2. ความคิดเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์” (Identity) พื้นที่นั้นๆมีลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในทางกายภาพ ไม่เหมือนใคร
3. ความคิดเกี่ยวกับ “การเข้าถึง” (Circulation) แน่นอนว่ามันต้องเข้าถึงได้ ไม่แบ่งแยก ไม่กีดกัน มีอิสระที่จะเข้าใช้งาน
4. ความคิดเกี่ยวกับ “เฉพาะถิ่น” (Locality) ทุกพื้นที่ต้องมีลักษณะส่วนตัวทั้งในมิติทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
5. ความคิดเกี่ยวกับ “ความเป็นมา” (History) ทุกพื้นที่มีประวัติศาสตร์ (แม้จะไม่ได้อยู่ในย่านเมืองเก่า) ประวัติศาสตร์หรือร่องรอยของพื้นที่นั้นว่าเป็นมาอย่างไร
6. ความคิดเกี่ยวกับ “ความหมาย” (Meaning) ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึก และความผูกผันของเราต่อพื้นที่ ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง
การศึกษา Sense of Place
Place คือ มนุษย์ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น Place แก่นกลางของการสร้าง Place ที่ดีจึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่
การทำความเข้าใจ Sense of Place จึงเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ในพื้นที่ ดังนี้
1. การใช้งาน ความผูกพันกับพื้นที่หนึ่งๆจะเริ่มก่อตัวขึ้นจากการใช้งาน ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่มองเห็นได้จาก ผู้คนรวมกลุ่มใช้งานพื้นที่มากน้อยเพียงใด ตำแหน่งแห่งหนของคนในพื้นที่ การเคลื่อนที่ของผู้คน ระยะเวลาของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในพื้นที่นั้นๆ Place ที่ดีต้องมีคนเข้าใช้งาน ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ ไม่เงียบเหงา
2. ความพูกพัน ความพอใจในพื้นที่หนึ่งๆจะเริ่มก่อตัวขึ้นจากความผูกพัน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับพื้นที่ เข้าใจได้จากความภูมิใจของคนต่อกายภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ตอบสนองอัตลักษณ์ของกลุ่มคนนั้นๆ และผู้คนรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย Place ที่ดีต้องสร้างความรู้สึกภูมิใจ มั่นใจ และปลอดภัย
3. ความพอใจ ความรู้สึกดีต่อพื้นที่จะปรากฏเมื่อเราพอใจกับที่นั้นๆ ประเมินได้จากความสอดคล้องระหว่างวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนไปกับสภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนตามหรือไม่ ผู้คนมีความคาดหวังกับพื้นที่นั้นๆ ผู้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่นั้นๆ Place ที่ดีต้องตอบรับความเปลี่ยนแปลง ผู้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่นั้น
Place ที่ดี ต้องมีคนเข้าใช้งาน ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ ไม่เงียบเหงา
Place ที่ดี ต้องสร้างความรู้สึกภูมิใจ มั่นใจ และปลอดภัย
Place ที่ดี ต้องตอบรับความเปลี่ยนแปลง ผู้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่นั้น
คำถามที่ตามมา
Place ที่ดีควรเกิดขึ้นกับพื้นที่สาธารณะของเมือง ตั้งแต่ หน้าบ้านของเรา ซอยของเรา หน้าโรงเรียน หน้าสำนักงาน หน้าร้านค้า ไปจนถึงในลานสาธารณะของชุมชนของเมือง แต่ Place ที่ดีนั้นอยู่ตรงไหนในเมือง ตอบสนองความต้องการของเราหรือไม่ มีมากน้อยแค่ใหน เพียงพอหรือไม่ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกรักและหวงแหนเมือง ?