อัตลักษณ์เมือง : ความหมาย ความสำคัญ และเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง

Singhanat Sangsehanat
1 min readFeb 15, 2020

--

อ่านอัตลักษณ์ อ่านความคิด อ่านการกระทำของคนที่มีต่อเมือง

เราสามารถเข้าใจอัตลักษณ์ของเมืองได้หรือไม่ ?

อัตลักษณ์ (Identity) คืออะไร

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล จากงานวิจัยเรื่อง อัตลักษณ์: การทบทวนทฤษฏีและกรอบแนวคิด (2543) กล่าวว่า อัตลักษณ์เป็นผลจากการคิด การตีความ และการอธิบายความจริงของผู้คนและสังคม อัตลักษณ์เป็นมโนทัศน์ที่สัมพันธ์กับตรงนี้และตรงนั้น (Here and There) ตัวฉันและคนอื่น (Self and Other) ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ (Subject and Object)

Subject มีรากศัพท์จากภาษาลาตินที่แปลว่า “โยนไว้ข้างใต้” ซึ่งสื่อถึงสิ่งที่มีความสำคัญ มีอิทธิพล และเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งอื่น ในขณะที่ Object ซึ่งแปลว่า “โยนไว้ตรงข้าม” นั้นสื่อถึงสิ่งที่ถูกกระทำ ตกอยู่ใต้อำนาจ และเป็นผลตามมา

สิ่งที่โยนไว้ข้างใต้นั้น เชื่ออย่างนั้น ครอบครองไว้นั้น ก็คือ อัตลักษณ์ ที่เราคิดและผูกพัน

เอกลักษณ์ กับ อัตลักษณ์

เอกลักษณ์และอัตลักษณ์มีนัยแห่งความหมายที่แตกต่างกันในทางวิชาการ คำแรกสื่อถึงคุณสมบัติอันเป็นเอกของคนหรือสิ่งหนึ่ง คำหลังสื่อถึงลักษณะเจาะจงของคนหรือสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ได้บนความสัมพันธก์ับสิ่งอื่น โดยเฉพาะจากการประเมิน ตีความ เชื่อ และยึดถือไว้ กล่าวให้ง่ายขึ้น เอกลักษณ์หมายถึงลักษณะเด่น อัตลักษณ์หมายถึงสิ่งที่เชื่อและยึดถือว่าเป็น

ในยุคหนึ่ง คนหรือปัจเจกบุคคลถูกมองว่ามีคุณสมบัติเฉพาะตัวอันโดดเด่นกว่าสิ่งอื่น มีอิทธิพลอยู่เหนือสรรพสิ่ง และเป็นฐานรากของสังคม Identity จึงเคยถูกใช้ด้วยคำว่า “เอกลักษณ์” ซึ่งหมายถึงคุณลักษณะอันเป็นเอกของคนหรือสิ่งหนึ่งจากสิ่งอื่น ความเป็นปัจเจกและตัวฉันถูกมองว่าอยู่เหนือทุกสิ่งและเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนและสภาพแวดล้อม

แต่ในเวลาต่อมาความเป็นปัจเจกและตัวฉันถูกท้าทายว่าไม่ได้อยู่เหนือสรรพสิ่ง หากแต่ความนึกคิด จิตสำนึก และการกระทำหรือไม่กระทำของเราเป็นผลสะท้อนจากโครงสร้างสังคมและอยู่ภายใต้สัญญะที่ถูกสื่อสารออกมาจากสภาพแวดล้อม ในปัจจุบัน ตัวฉันกับคนอื่น ปัจเจกกับสังคม ตรงนี้และตรงนั้นไม่ได้ถูกมองว่าแยกขาดออกจากกันและไม่ใช่เรื่องของการถกเถียงว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน แต่คู่ตรงข้ามระหว่างปัจเจกกับสังคมกลายเป็นปริมณฑลต่อการพิจารณาถึงปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผ่านไปมาตลอดจนกระบวนการก่อตัวและอัตลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนไปได้ คำว่า “เอกลักษณ์” จึงถูกแทนด้วยคำว่า “อัตลักษณ์” ซึ่งเป็นผลจากการที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจเจกภาพแต่เพียงถ่ายเดียวและไม่เชื่อในคุณสมบัติของสิ่งใดว่าสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกภาพจากสิ่งอื่น

อัตลักษณ์เมือง

Kevin Lynch ในงานเขียนเรื่อง The Image of the City (1960) กล่าวว่ากระบวนการทางปัญญาของมนุษย์ก่อให้เกิดภาพจำ (Cognitive Image) ของภูมิทัศน์ที่ปรากฏในเมืองซึ่งเรียกว่าแผนที่ทางจิต (Mental Map) ภาพจำซึ่งตราตรึงอยู่ในกระบวนการนั้นในที่สุดแล้วกลายเป็นจินตภาพ (Image) ภายในมโนทัศน์ของแต่ละบุคคล และองค์ประกอบที่ช่วยให้มนุษย์จดจำเมืองได้ดี คือ เส้นทาง (Path) เส้นขอบ (Edge) ภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) ชุมทาง/ชุมนุมชน (Node) และย่าน (District)

ถึงกระนั้น Kevin Lynch ก็ได้เตือนว่าจินตภาพส่วนรวมของสังคม (Public Image) ไม่ใช่แค่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาและองค์ประกอบเหล่านั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพจำ

ผู้คนมักไม่ได้คิดถึงลักษณะทางกายภาพของเมืองเพียงด้านเดียวเมื่อถูกถามถึงอัตลักษณ์ในถิ่นของตน แต่ผู้คนระลึกถึงประสบการณ์ของตนเองในภูมิทัศน์ อัตลักษณ์จึงเป็นความหมายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของผู้คนว่าเป็นใครในภูมิทัศน์และสิ่งใดในภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญต่อเขา

คำตอบที่มีให้แก่อัตลักษณ์เมืองจึงแตกต่างออกไปจากแต่ละบุคคลซึ่ง “แฝง” ไว้ด้วยการกลั่นกรองคุณค่าความสำคัญของภูมิทัศน์ และ “ฝัง”ความเป็นตัวตนของเขาไว้ในคำตอบนั้น

ความหมายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมจึงเป็นการผลิตความหมายเกี่ยวกับความจริง การนิยามความจริงที่เรียกว่า “วาทกรรม” โดยเป็นการนิยามภูมิทัศน์ นิยามการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในภูมิทัศน์ และนิยามตนเอง

อัตลักษณ์ไม่ใช่เพียงลักษณะเด่นของสภาพแวดล้อมแต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมในแหล่งนั้นๆ

ประเด็นเกี่ยวเนื่อง

  • อัตลักษณ์คือความว่างเปล่าเพราะอาศัยความคิด ตีความ และยึดถือไว้ และเมื่ออัตลักษณ์คือความว่างเปล่า จึงเป็นพื้นที่อันทรงพลังต่อการนิยามสังคมและชุมชนเมือง อัตลักษณ์ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นความหมายเกี่ยวกับความจริงของผู้คนและสังคม
  • อัตลักษณ์เป็นเรื่องของวาทกรรม คือการสถาปนาความจริง และการเก็บกดปิดกั้นวาทกรรมในแบบอื่นหรือมโนทัศน์อื่น โดยจำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดรวมอยู่และสิ่งใดไม่เกี่ยวข้อง สิ่งใดคืออัตลักษณ์และสิ่งใดไม่ใช่ อัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
  • อัตลักษณ์เป็นเรื่องของชนชั้น มโนทัศน์ชนชั้นในแง่มุมภูมิศาสตร์เมืองได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทฤษฏีมาร์กซิสต์ซึ่งวิพากษ์โครงสร้างสังคมของวิถีการผลิต (Mode of Production) ภูมิทัศน์จึงสัมพันธ์กับชนชั้นและการต่อสู้ของภาพแทนความจริงในสังคม

อัตลักษณ์ร่วมหนึ่งเดียวไม่มีอยู่จริง แต่เป็นพหุลักษณ์ของความจริง ความจริงที่มีหลายด้าน

ผู้เขียนสรุปความและตีความเพิ่มเติมในเรื่อง อัตลักษณ์ จากงานเขียนของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ขออนุญาตและขอบคุณไว้ในที่นี้

--

--

Singhanat Sangsehanat

สิงหนาท แสงสีหนาท — Urban Design Theorist, Silpakorn University