PlaceMaking : การสรรค์สร้างเมืองจากจุดเล็กๆที่ยิ่งใหญ่
การสร้างพื้นที่เมือง ให้เป็นมากกว่าแค่ “พื้นที่”
เมื่อเราพูดถึง Space ก็อาจจะหมายถึงเพียงแค่มิติทางกายภาพ แต่ Place จะหมายถึงมิติสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นในด้านวิถีชีวิต ความคิด กิจกรรม ไปจนถึงความผูกพันของผู้คนกับพื้นที่ Place จึงมีความหมายที่กินความกว้างขวางในสาขาวิชามนุษยวิทยา สถาปัตยกรรม ชุมชน และเมือง
Place ต่างจาก Space เพราะสื่อความหมายไปถึง “กระบวนการทางสังคม” (Social Process) ของพื้นที่
มิติของ Place
Place เป็นผลรวมจากมิติ 3 ด้าน คือ กิจกรรม รูปทรง และภาพจำ
1) กิจกรรม (Activity) หมายถึงการประกอบกิจกรรมของผู้คนในพื้นที่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้นจึงได้แก่ ความหลากหลายของการกระทำ ชีวิตตามท้องถนน การนั่ง ยืน เดิน หรือแม้แต่การมองกันและกันระหว่างผู้คน เหตุการณ์หรืองานประเพณีท้องถิ่น เวลาในการใช้งานพื้นที่ การเคลื่อนที่ของคนในพื้นที่ สิ่งดึงดูดกิจกรรม การค้าขาย ไปจนถึงวัฒนธรรมคาเฟ่ในพื้นที่เมือง
2) รูปทรง (Form) หมายถึงองค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ ประเด็นพิจารณาได้แก่ ภูมิทัศน์เมือง ภูมิสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้าง องค์ประกอบทางธรรมชาติ ขนาดและสัดส่วนของสิ่งเหล่านั้น การแทรกซึมได้ของผู้คนในเมือง จุดหมายตา ความเป็นอาณาบริเวณสาธารณะ ไปจนถึงอุปกรณ์ประกอบถนน
3) ภาพจำ (Image) หมายถึงการรับรู้และตีความของผู้คนต่อพื้นที่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในแง่มุมของ Place ได้แก่ การจดจำพื้นที่ สัญลักษณ์ ความกระจ่างชัดของพื้นที่ สิ่งดึงดูดใจหรือสิ่งกระตุ้นเร้าการรับรู้ของมนุษย์ ความรู้สึกปลอดภัย หรือแม้แต่ความรู้สึกกลัวในเมือง
Placeless หมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่มีความพิเศษอันใดเลยของพื้นที่ มันตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่มีความเฉพาะเจาะจง ไม่สร้างความผูกผันให้แก่ผู้คน (Edward Relph ในงานเขียนเรื่อง Place and Placelessness, 1976)
องค์ประกอบของ Placemaking
Project for Public Spaces (PPS) องค์กรสนับสนุนการสรรค์สร้างถิ่นที่ (Place) ได้กำหนดองค์ประกอบไว้ 4 ด้าน คือ
1) การเข้าถึงและเชื่อมโยง (Access & Linkages) พื้นที่ในเมืองต้องสะดวกที่จะเข้าถึง และสะดวกที่จะเดินทางผ่าน ทั้งในด้านการมองเห็นและการกระทำที่เกิดขึ้นจริง Place ที่ดีต้องได้รับการพัฒนาในด้านการเชื่อมโยงเดินทางระหว่างพื้นที่หนึ่งๆกับพื้นที่โดยรอบ
2) สภาวะน่าสบายและภาพลักษณ์ (Comfort & Image) พื้นที่เมืองสะท้อนถึงความน่าสบายในการใช้งานหรือไม่ มีภาพลักษณ์ที่ดีหรือไม่ สภาวะน่าสบายและภาพลักษณ์ที่ดีรวมถึงการส่งเสริมการรับรู้พื้นที่ว่ามีความปลอดภัย สะอาด และมีที่ให้นั่งเล่น พูดคุย รวมกลุ่ม พบปะสังสรรค์ทางสังคม
3) การใช้งานและกิจกรรม (Uses & Activities) กิจกรรมของมนุษย์คือรากฐานการสร้าง Place ที่ดีในเมือง มันคือเหตุผลแรกเริ่มของผู้คนที่จะเข้าไปยังพื้นที่ จากไปแล้วยังหวลกลับมาอีกครั้งและอีกครั้ง สร้างความผูกพันระหว่างคนกับพื้นที่จนก่อเกิด Place ในเมือง
4) การสร้างสังคม (Sociability) หมายถึงการสร้างสำนึกต่อถิ่นที่ (Sense of Place) โดยส่งเสริมโอกาสให้ผู้คนพบปะเพื่อน พูดคุยหรือมองเห็นเพื่อนบ้านหรือผู้คนในละแวก มั่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ในพื้นที่สาธารณะร่วมกับคนอื่น หากสิ่งเหล่านี้มีขึ้นแล้ว ผู้คนจะผูกพันกับพื้นที่ สำนึกต่อถิ่นที่ก็จะเข็มแข็ง เมื่อผู้คนไม่ว่าจะคนในถิ่นหรือคนนอกถิ่นมีสำนึกความรู้สึกพิเศษต่อพื้นที่ ก็ย่อมแสดงพฤติกรรมและใช้งานพื้นที่อย่างเหมาะสมกับอัตลักษณ์ของพื้นที่และสังคมนั้นๆ
Placemaking ที่ดี
การสรรค์สร้างถิ่นที่ (Place) ให้ประสบผลสำเร็จ มีหลักการออกแบบ 7 ด้าน ดังนี้
1) ความเฉพาะตัว (Character) ความเป็น Place ผูกสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ที่ผู้คนคิดและยึดมั่น พื้นที่แต่ละแห่งต้องมีเอกลักษณ์ การออกแบบชุมชนเมืองต้องส่งเสริมลักษณะเฉพาะทางภูมิทัศน์ การรักษาหรือสร้างลักษณะเฉพาะตัวของพื้นที่โดยต้องมองให้ออกก่อนว่าผู้คนมีวิถีชีวิต เดินทาง ใช้งานพื้นที่อย่างไร ผูกพันกับองค์ประกอบใดในสภาพแวดล้อม จากนั้นรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ รวมถึงปรับเปลี่ยนให้พื้นที่นั้นๆมีคุณภาพที่ดีขึ้นโดยไม่กระทบลักษณะเฉพาะเหล่านั้น (เอกลักษณ์กับอัตลักษณ์มีนัยเชิงลึกที่แตกต่างกัน เอกลักษณ์ของพื้นที่ หากลงรอยกับเอกลักษณ์ของสังคมและผู้คน อัตลักษณ์ของพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นจากการรับรู้และตีความของมนุษย์)
2) ความเชื่อมโยงและการปิดล้อม (Continuity and enclosure) ความน่าสนใจของ Place เป็นผลรวมจากองค์ประกอบต่างๆของเมือง Place จึงปรากฏอยู่บนพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนนหนทาง ลาน หรือสวนในเมือง ที่มีอาคาร ผู้คน และแมกไม้รายรอบ การออกแบบชุมชนเมืองต้องสร้างความต่อเนื่องของหน้าอาคารให้เข้าปิดล้อมพื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสม ไม่มากไปจนอึดอัดไม่น่าใช้งาน แต่ก็ไม่น้อยไปจนหละหลวม น่าเบื่อ ไม่รู้สึกอุ่นใจ
3) คุณภาพของพื้นที่สาธารณะ (Quality of the public realm) คุณภาพของ Place อยู่ตามถนนหนทาง ลาน หรือสวนในเมือง การออกแบบชุมชนเมืองต้องสร้างพื้นที่สาธารณะเมืองที่ดี ให้มีความน่าสนใจ มีชีวิตชีวา ปลอดภัย และตอบสนองการใช้งานของคนทั้งมวล มุ่งเน้นให้ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ไร้สมรรถภาพ เข้ามาใช้งานพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม
4) ความสะดวกในการเคลื่อนที่ (Ease of movement) Place ที่ดีจะไม่มีประโยชน์อันใดเลยหากเราเข้าถึงไม่ได้ การออกแบบชุมชนเมืองต้องสร้างการเข้าถึงที่ดีในเมือง เชื่อมโยงเส้นทางการเข้าถึงระหว่างพื้นที่ต่างๆ ผู้คนมีความสะดวกและมั่นใจที่จะสัญจรเดินทาง การเดินเท้าในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญมาก่อนการสัญจรโดยยานพาหนะ ผู้คนเดินไปตามถนนหนทางได้อย่างปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการสัญจร
5) ความกระจ่างชัด (Legibility) Place ควรเป็นสิ่งที่เราระลึกถึงได้อย่างแจ่มชัดในใจ การออกแบบชุมชนเมืองต้องสนับสนุนให้พื้นที่เมืองมีความชัดเจนต่อการจดจำและระลึกถึง มีความชัดเจนของเส้นทาง ทางแยก จุดหมายตา ความเป็นชุมชน และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นรากฐานของอัตลักษณ์พื้นที่
6) ความสามารถปรับเปลี่ยน (Adaptability) เราทุกคนมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย Place ก็ควรตอบสนองสิ่งเหล่านั้น การออกแบบชุมชนเมืองต้องเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมือง ที่สามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนรุ่นใหม่ๆ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจอย่างใหม่ได้เสมอ พื้นที่ในเมืองจึงไม่ควรถูกพัฒนาให้ตอบรับการใช้งานประเภทใดประเภทหนึ่งจนตายตัวมากเกินไป แต่ให้มีการใช้พื้นที่อย่างผสมผสาน มีพื้นที่สาธารณะรองรับการใช้งานได้อย่างหลากหลาย
7) ความหลากหลาย (Diversity) มิติซับซ้อนของ Place คือต้องการเอกลักษณ์แต่ก็ต้องการความหลากหลายอยู่ภายในเอกลักษณ์นั้น ผู้คนในเมืองต้องการความหลากหลายของการใช้งาน ความหลากหลายของกิจกรรม ความหลากหลายของตัวตน โดยเหตุนี้ พื้นที่หนึ่งๆในเมืองจึงไม่ใช่ว่าต้องมีกายภาพที่เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ภายใต้ลักษณะเฉพาะของพื้นที่หนึ่งๆก็สามารถผสมผสานการใช้พื้นที่ต่างประเภท รูปทรงต่างลักษณะ ผู้คนต่างกลุ่ม ไว้ร่วมกันในย่านพื้นที่ได้ โดยมีรูปแบบอาคารและความเข้มข้นของกิจกรรมอย่างเหมาะสม เคารพซึ่งกันและกัน
ถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า Placemaking ไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่ แต่เป็นการส่งเสริมสายใยระหว่างผู้คนกับองค์ประกอบต่างๆที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่เมือง
Placemaking คือการสร้างสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับอัตลักษณ์ที่ผู้คนคิดและยึดมั่น
Placemaking เป็นการมองไปที่ผลรวมจากองค์ประกอบต่างๆของเมือง
Placemaking อยู่บนพื้นที่สาธารณะ ตามถนนหนทาง ลาน หรือสวนในเมือง
Placemaking ที่ดีต้องเปิดโอกาสให้เรามีพื้นที่สาธารณะที่ดี และเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ
Placemaking ควรเป็นการส่งเสริมให้มีพื้นที่ ที่เราระลึกถึงได้อย่างแจ่มชัดในใจ
Placemaking ควรตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย
Placemaking เป็นการสร้างเอกลักษณ์เมือง ที่ยังคงความหลากหลายอยู่ภายใต้เอกลักษณ์นั้น
อ่านเพิ่มเติมใน
(1) Montgomerry, J. (1998). Making a City: Urbanity, Vitality and Urban Design, Journal of Urban Design, 3, 93–116.
(2) Placemaking ใน PPS. (2021). What Makes a Successful Place?. Available at: https://www.pps.org/article/grplacefeat (Accessed:2 Fabuary 2021).
(3) CABE. (2003). The Councillor’s Guide to Urban Design. London: CABE.