Responsive Environment : การสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบสนอง — การให้ทางเลือกแก่ผู้คนในเมือง

Singhanat Sangsehanat
1 min readNov 26, 2020

--

เมืองที่ดี คือ เมืองที่มีทางเลือกให้แก่ผู้คน

หนึ่งในคำถามที่ได้รับอยู่บ่อยๆ คือ เมืองที่ดีเป็นอย่างไร คำตอบที่เรียบง่าย คือ เมืองที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และภายใต้ความเท่าเทียมทางสังคมนั้น เมืองจึงควรมี “ทางเลือก” (Choice) ให้มากที่สุดเพื่อตอบสนองคนทุกคนในเมือง

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างหลากหลายในปัจจุบัน สิ่งที่ยังต้องทบทวนอยู่เสมอคือความเปลี่ยนแปลงนั้นช่วยให้ผู้คนมีทางเลือกที่ดีต่อการใช้ชีวิตในเมืองหรือไม่ ตอบสนองความต้องการพื้นฐานและสุนทรียภาพที่สูงไปกว่านั้นหรือไม่ และเมื่อเมืองเป็นที่ประชุมรวมของผู้คนที่หลากหลายทั้งในด้านอาชีพ สถานะ ความคิด และความต้องการ เมืองได้สร้างทางเลือกไว้อย่างหลากหลาย ตอบสนองต่อการรับรู้ ความต้องการ และความคาดหวังของคนทุกคนหรือไม่

Ian Bentley และคณะ เขียนทฤษฏี Responsive Environments ไว้ในปี ค.ศ.1985 ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานความคิดของการสร้างพื้นที่ (Placemaking) ในปัจจุบัน

การออกแบบชุมชนเมืองที่ดีควรส่งผลให้ผู้คนทุกกลุ่มได้รับทางเลือกที่ดีจากสภาพแวดล้อมใน 7 ด้าน คือ เข้าถึงได้ ใช้งานได้หลากหลาย ภาพจำชัดเจน ภูมิทัศน์ที่เห็นนั้นเหมาะสม ยั่งยืน เต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ และเป็นตัวของตัวเอง ดังนี้

1) Permeability (ความแทรกซึม) เมืองควรช่วยให้ผู้คนเดินทางเข้าถึงพื้นที่ต่างๆได้อย่างสะดวก การเข้าถึงที่สะดวกจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงทางเลือกของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในเมือง การเข้าถึงพื้นที่และการเชื่อมโยงการเข้าถึงระหว่างพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตอบสนองความต้องการ สร้างทางเลือกให้คนเมือง มีความเท่าเทียม และสร้างความเป็นประชาธิปไตยในเมือง

2) Variety (ความหลากหลาย) เมืองควรช่วยให้ผู้คนมีการใช้งานพื้นที่อย่างหลากหลาย พื้นที่ที่ผู้คนเข้าถึงได้ในเมืองจะไม่มีประโยชน์เลย หากพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ตอบสนองประสบการณ์ที่ผู้คนต้องการ เมืองที่มีการเข้าถึงได้เป็นอย่างดีจึงยังต้องมีความหลากหลายเชิงประสบการณ์ให้แก่ผู้คน ทั้งในด้านรูปทรง การใช้งาน และการสื่อความหมายจากสภาพแวดล้อมที่อาจแตกต่างกันไปสำหรับผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม

3) Legibility (ความกระจ่างชัด) เมืองควรช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงการดำรงอยู่ของพื้นที่ต่างๆในเมือง เมืองไม่ใช่แค่มีทางเข้าถึงและพื้นที่กิจกรรมอย่างลอยๆ แต่ต้องสร้างสภาพเวดล้อมให้ผู้คนจดจำได้ ผู้คนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากสภาพแวดล้อมก็ต่อเมื่อพวกเขาระลึกได้ว่า เส้นทาง พื้นที่ และกิจกรรมต่างๆอยู่ที่ใด

4) Robustness (ความคงทนยั่งยืน) นอกเหนือจากการมีพื้นที่กิจกรรม การเข้าถึง และกระจ่างชัดแล้ว เมืองควรมีพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและเอนกประโยชน์ พื้นที่ในเมืองต้องรองรับความต้องการของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และรวมถึงความต้องการที่ต่างออกไปในคนรุ่นต่อๆไป สภาพแวดล้อมเมืองจึงควรที่จะปรับเปลี่ยนการใช้งานไปได้ตามต้องการ

5) Visual Appropriateness (ความเหมาะสมของภาพที่ปรากฏ) สภาพแวดล้อมที่ดียังขึ้นกับการรับรู้และการตีความจากผู้ใช้งาน ทางเลือกต่างๆในสภาพแวดล้อมถือว่าดีหรือไม่นั้นอยู่ภายใต้กระบวนการตีความของผู้คน ภูมิทัศน์ของพื้นที่และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในเมืองจึงควรมีภาพปรากฏที่เหมาะสม ผู้คนเข้าใจว่าพื้นที่นั้นมีขึ้นเพื่อใช้งานอะไร เมื่อใหร่ และเพื่อใคร

6) Richness (ความเต็มเปี่ยม) เมืองคือประสบการณ์ สภาพแวดล้อมของเมืองต้องช่วยสร้างประสบการณ์เชิงความรู้สึก ซึ่งเป็นรายละเอียดที่เติมเต็มความพึงพอใจในสภาพแวดล้อม ตั้งแต่การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส ได้กลิ่น ไปจนถึงประสบการณ์การเคลื่อนที่ในเมือง

7) Personalisation (ความเป็นตัวของตัวเอง) ท้ายสุดแล้วพื้นที่แต่ละแห่งในเมืองต้องมีอัตลักษณ์ และสามารถช่วยให้ผู้คนกำหนดอัตลักษณ์ของกลุ่มสังคมลงในสภาพแวดล้อม ผู้คนไม่เพียงต้องการสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองการใช้งาน แต่ผู้คนยังต้องการสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองรสนิยมและคุณค่าของตนเอง

เราเข้าถึงพื้นที่ต่างๆของเมืองได้ง่ายหรือไม่

เรามีพื้นที่ใช้งานอย่างหลากหลายหรือไม่

เราระลึกถึงเมืองของเราเองได้อย่างแจ่มชัดหรือไม่

เรามีพื้นที่เมืองที่เอนกประโยชน์และปรับเปลี่ยนไปตามต้องการหรือไม่

เรามีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้เราเข้าใจเมืองของตนเองหรือไม่

เรามีประสบการณ์และมีปิติเมื่ออยู่ในเมืองหรือไม่

เรามีเมืองที่เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเราหรือไม่

อ่านเพิ่มเติมใน Bentley, I. and others. (1985). Responsive Environments: A Manual for Designers. Oxford: Architectural Press.

--

--

Singhanat Sangsehanat

สิงหนาท แสงสีหนาท — Urban Design Theorist, Silpakorn University